โดย แพทย์หญิงสาริษฐา สมทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแอนไทเอจจิ้ง ด้านระบบประสาทและสมอง และด้านกุมารเวช
ระบบย่อยอาหารเป็นระบบที่สำคัญระบบหนึ่งของร่างกาย เพราะทำหน้าที่ย่อยอาหารที่คนเรารับประทาน ก่อนจะดูดซึมเอาสารอาหารต่าง ๆ เข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงและซ่อมแซมเซลทั่วทั้งร่างกาย
ระบบย่อยอาหารประกอบไปด้วยอวัยวะหลายส่วน เริ่มกันตั้งแต่ ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ เมื่ออายุมากขึ้น การที่อวัยวะเหล่านี้ทำงานมาเป็นเวลานาน รวมถึงพฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่แตกต่างกันไป ทำให้ระบบย่อยอาหารของแต่ละคนเสื่อมมากน้อยแต่ต่างกันไป มาดูกันว่าระบบย่อยอาหาร หลังวัย 35+ เป็นอย่างไร และจะมีวิธีชะลอวัย ของอวัยวะที่เกี่ยวข้องได้อย่างไรบ้าง
1. กระเพาะอาหาร
การที่กระเพาะอาหารเสื่อม สาเหตุแรก เกิดจากความไม่สมดุลของแบคทีเรียดีกับแบคทีเรียไม่ดี ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นกระบวนการหลั่งน้ำย่อย แม้ว่ากระเพาะถูกสร้างมาให้ทนกรด แต่ถูกกระตุ้นให้หลั่งน้ำย่อยออกมาเยอะ ๆ อย่างเวลาที่รู้สึกเครียด แล้วเวลาเดียวกันนั้นกระเพาะมีแบคทีเรีย (Helicobacter Pylori) จากการที่เรากินอาหารประเภทของหมักดองแบคทีเรียตัวนี้จะไปทำให้กระเพาะเป็นแผลง่ายขึ้น
สาเหตุที่สอง กระเพาะเริ่มมีปัญหาเรื่องการหลั่งน้ำย่อยผิดปกติ เพราะนิสัยการกินที่ไม่ถูกต้อง คือถ้าเราไม่ฝึกนิสัยการกินอาหารให้ตรงเวลา หมายถึงเคยกินเวลาไหน พยายามกินเวลานั้นให้ใกล้เคียงกันทุกวัน และไม่ใช่กินไปเรื่อย ๆ กินทั้งวัน นี่อาจขัดกับทฤษฎีที่ว่ากินน้อย ๆ กินไปเรื่อย ๆ นะคะ แต่การกินอาหารไม่ตรงเวลา หรือกินไปเรื่อยๆ กระเพาะจะถูกกระตุ้นให้หลั่งน้ำย่อยตลอดเวลา ความเป็นกรดเป็นด่างในการย่อยอาหารจะเสียหาย
บางคนกินเนื้อเยอะมากทั้งวัน กระเพาะก็ย่อยไม่ทัน จึงควรกินเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม แล้วต้องเว้นช่วงให้กระเพาะได้พักบ้าง
2. ลำไส้เล็ก
ลำไส้เล็กทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารและเป็นที่อยู่ของภูมิคุ้มกันร่างกาย บางคนตอนยังเป็นเด็ก ไม่เคยเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน แต่พออายุมากขึ้นกลับเริ่มมีปัญหา เพราะระบบภูมิคุ้มกันในลำไส้อ่อนแอนั่นเอง
สาเหตุหนึ่งเกิดจากการกินอาหารแปรรูป อาหารปนเปื้อน เป็นประจำ อาหารเหล่านี้ร่างกายถือเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ออกมาต่อต้าน บางคนถูกกระตุ้นมากเกินไปทำให้มีการหลั่งน้ำย่อยผิดปกติ นอกจากนั้นการอักเสบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นบ่อย ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ไปขัดขวางวงจรการหลั่งน้ำย่อย ส่งผลให้การย่อยไม่สมบูรณ์ แบคทีเรียเลวชนะแบคทีเรียดี ส่งผลให้มีอาการแพ้อาหาร สภาวะแบบนี้ล้วนแต่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้องทำงานหนัก เมื่อระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง จึงเจ็บป่วยง่าย บางคนเป็นหวัดบ่อย ท้องเสียง่าย แม้จะไม่ได้กินของไม่สะอาดก็ตาม
การกินอาหารอะไรจึงมีส่วนสำคัญ หากต้องการชะลอวัยให้ระบบย่อยอาหารของเรายังแข็งแรงไม่อ่อนแอไปก่อนวัยอันสมควร
3. ลำไส้ใหญ่
หลังจากการย่อยที่ลำไส้เล็ก กากอาหารจะเคลื่อนตัวไปที่ลำไส้ใหญ่ ถ้าอาหารที่กินมีสารพิษ มีโลหะหนัก (จากยาฆ่าแมลง) หรือ สารกันบูด จะไปเกาะอยู่ในลำไส้ใหญ่ นานเข้าก็ทำให้การเอาน้ำเข้าน้ำออกจากลำไส้ไม่ดี การขับถ่ายก็ไม่ดีตามไปด้วย บางคนพออายุ 35 ไปแล้ว เริ่มมีปัญหาเรื่องท้องผูก สาเหตุหนึ่งเกิดจากลำไส้ใหญ่บีบตัวช้าลง และอีกสาเหตุเกิดจากการที่ลำไส้เล็กย่อยกากไม่สมบูรณ์ ทำให้เคลื่อนตัวในลำไส้ใหญ่ช้าลงไปอีก จึงเกิดอาการท้องผูก ถ่ายไม่เป็นเวลา
การที่ท้องผูกส่งผลให้อุจาระหรือสารพิษที่จะขับออกมาไม่รู้จะไปไหน ในที่สุดมันก็จะถูกดูดกลับเข้าไปในร่างกาย นอกจากนั้นในลำไส้ใหญ่มีระบบน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเลือดขาวบางชนิด ถ้าไปเจอสารพิษเป็นเวลานานมันก็กลายเป็นมะเร็งลำไส้ได้
คนโบราณมักพูดกันว่าเด็ก ๆ หอม พอแก่เริ่มเหม็น คำว่าเหม็นก็เกิดจากลำไส้ใหญ่นี่แหละ ลมหายใจเหม็นเพราะแก๊สมันขึ้นมา บางคนก็ตดตลอด ถ้าตดมากเกินไป แสดงว่ามีแก๊สเยอะ หมายความว่ามีแบคทีเรียตัวไม่ดีเยอะเกินไป ลองสังเกตดูว่าถ้าอุจจาระหรือตดแล้วกลิ่นรุนแรงแสดงว่ามีแบคทีเรียไม่ดีเยอะ วิธีแก้ไขคือ ดื่มน้ำผสมแอปเปิ้ลไซเดอร์ช่วยได้ เพราะน้ำช่วยให้ลำไส้บีบรัดตัวได้ดี ส่วนแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ จะช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในกระเพาะและลำไส้
4. ตับ
ปัญหาเกี่ยวกับตับที่เจอมากที่สุดของคนที่อายุ 35 + คือไขมันพอกตับ บางคนเกิดจากการมีไตรกลีเซอไรด์สูง ซึ่งเป็นผลจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะพวก 40 ดีกรี นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากการกินยาติดต่อกันเป็นเวลานาน การกินอาหารที่มีสารพิษโดยไม่รู้ตัว การอักเสบของเส้นเลือดในตับซ้ำ ๆ การกินหวานมาก ๆ และการขาดเอนไซน์บางอย่างที่จะเปลี่ยนไตรกลีเซอไรด์ไปเป็นพลังงาน ทีนี้พอไขมันพอกตับมาก ๆ จะก่อให้เกิดภาวะตับแข็ง ถ้าใครมีเซลมะเร็ง ก็จะกลายเป็นมะเร็งตับได้
หลังอายุ 35 จึงควรไปตรวจค่าตับบ้างว่าเคยอักเสบหรือไม่ ใช้ยาอะไรเป็นระยะเวลานานไหม รวมถึงอัลตร้าซาวนด์ตับดูว่า มีไขมันพอกตับไหม ถุงน้ำดียังดีอยู่หรือไม่ และระมัดระวังการรับประทานอาหารโดยเฉพาะการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยชะลอวัยของตับไม่ให้เสียหายไปก่อนวัยอันควร
5. ไต
จากการที่ไตต้องทำงานเป็นตัวกรองมาเป็นระยะเวลานาน ย่อมต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา ส่วนสาเหตุที่กระตุ้นให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นได้แก่ การกินโปรตีนสูงมากเกินไป ได้รับสารพิษจากการใช้ยาบางอย่างเป็นเวลานาน เป็นเบาหวาน ที่เรียกว่าน้ำตาลเคลือบไต ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตเปราะ บางคนอาจไม่ยังไม่ถึงขั้นเป็นเบาหวาน แต่น้ำตาลสูงมาตลอดชีวิต เพราะกินคาร์โบไฮเดรตเยอะเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายกับไตได้
อาการไตเสื่อม สังเกตได้จากปัสสาวะแล้วเป็นฟอง ซึ่งบอกว่ามันไม่สามารถเก็บโปรตีนได้แล้ว หรือมีอาการบวมที่ตาที่หลังเท้า บางคนอยากกินอาหารมากจนผิดปกติ หรือไม่หิวเลย เหนื่อยง่ายจนทนไม่ได้
เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash